สืบเนื่องจากทางคณะรัฐมนตรีได้มีวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ที่ จังหวัดภูเก็ต วันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ทางภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ต 12 องค์กร ได้มีการเตรียมนำเสนอ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางเราก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เป็นผู้ออกแบบในครั้งนี้
โดยแนวคิดในการเล่าเรื่องและการวางแบบได้รับการแนะแนวและแนะนำจากทางนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต โดยจะมีการเล่าเรื่องโดยเปรียบเปรย การเดินทางของจังหวัดภูเก็ตในแต่ละวัน เสมือนกับการว่ายน้ำของพระมหาชนก เมื่อมองไปออกไปก็เห็นเพียงแต่น้ำทะเล และท้องฟ้า ยังไม่เห็นฝั่ง และยามที่พระมหาชนก หมดแรง ก็มีปูทะเลตัวหนึ่ง มาช่วยประคองที่เท้า เพื่อไม่ให้จมน้ำทะเลเสียชีวิต
โดยการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางภาคเอกชนต้องการนำเสนอจะมีทั้งหมด 10 ข้อ โดยดยแต่ละข้อจะเปรียบเสมือน ขาแต่ละข้างของปู และแบ่งเป็นสองฝั่งคือ อุปสงค์ และอุปทาน
อุปสงค์
1. ปรับปรุงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
- เพิ่มแรงจูงใจในการเดินทางในวันธรรมดา โดยได้รับสิทธิส่วนลดค่าที่พักเพิ่มเป็น 50% ในการเข้าพักช่วงระหว่างวันจันทร์-วันพฤหัสบดี
- ขยายประเภทธุรกิจในสิทธิประโยชน์คูปองให้ครอบคลุม กิจการสปา, บริษัทนำเที่ยว และรถเช่า
- ขยายสิทธิประโยชน์เงินคืนค่าเครื่องบิน ให้กับนักท่องเที่ยวที่ขับรถยนต์ โดยได้รับเงินคืนค่าน้ำมันในอัตรา 40% สูงสุดมูลค่า 2,000 บาท
- ลดระยะจำนวนวันในการสำรองที่พักล่วงหน้าจาก 3 วัน เหลือ 1 วัน และเปิดให้ทำการจองได้ 24 ชั่วโมง
- ขยายระยะเวลาในโครงการให้สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564
2. ขอมติคณะรัฐมนตรีสั่งการให้มีการจัดประชุม สัมมนา ในกลุ่มจังหวัดอันดามัน
- สั่งการให้กระทรวง ทบวง กรม องค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดประชุมสัมมนาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และอันดามันเป็นเวลา 12 เดือน
- ขยายระยะเวลาโครงการ ประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า ที่ดำเนินการโดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
- ขอขยายเพดานค่าใช้จ่ายของการประชุมสัมมนาของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ อีก 1.5 เท่าของอัตราปกติในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จนถึง 31 ธันวาคม 2564
3. ขอเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในช่วงวันสุดสัปดาห์ (ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์)
จากสายการบินไทยสไมล์ ในเส้นทางกรุงเทพมหานคร – ภูเก็ต โดยเพิ่มวันละ 3 เที่ยวบินในเวลาเช้า บ่าย ค่ำ ในอัตราค่าโดยสารคงที่ในราคา 1,250 บาทต่อเที่ยว โดยดำเนินการในระยะเวลา 1 ธันวาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564
4. ขอรับสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรม
เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับการกีฬา อาหาร และสันทนาการ โดยตั้งเป้าหมายให้มีกิจกรรมหลักในทุกสุดสัปดาห์ตลอดระยะเวลา 12 เดือน รวม 52 ครั้ง
5. กำหนดนโยบายสนับสนุนและให้สิทธิประโยชน์ Workation from Phuket
กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทเอกชนให้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่สำนักงานในหน่วยงานด้านเทคโนโลยี หรือดิจิทัลที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีพื้นที่ขั้นต่ำในการจัดตั้งสำนักงาน 50 ตร.ม และมีพนักงานประจำอย่างน้อย 5 คนและสามารถนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมาหักภาษีได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง
อุปสงค์
1. มาตรการทางการเงิน
ขยายเวลาพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ในสินเชื่อเพื่อธุรกิจ รวมถึงวงเงินสินเชื่อเช่าซื้อที่มีอยู่ปัจจุบัน ให้ขยายระยะเวลาออกไปจนถึงธันวาคม 2564 พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นอัตรา 2% ตลอดการพักชำระหนี้ โดยเน้นไปที่ธุรกิจโรงแรม สปา
บริษัทนำเที่ยว รวมถึงบุคคลธรรมดาที่มีสินเชื่อเช่าซื้อเพื่อการประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
จัดตั้งวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดอันดามันเป็นการเฉพาะในวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยให้มีอัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 24 เดือน (1 ธันวาคม 2563 – 30 พฤศจิกายน 2565) ทั้งนี้ให้ บสย. เป็นผู้ค้ำประกัน โดยยกเว้นค่าจัดการการค้ำประกัน
สนับสนุนให้กระทรวงการคลังจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ในการซื้อหุ้นบุริมสิทธิจากธุรกิจท่องเที่ยว เน้นไปที่ธุรกิจโรงแรม สปา บริษัทนำเที่ยว เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องในธุรกิจ โดยมีอัตราเพดานการเข้าถือหุ้นไม่เกิน 30% หรือไม่เกิน 300 ล้านบาท พร้อมเงื่อนไขให้ธุรกิจมีสิทธิซื้อคืนในระยะเวลา 5 ปี ด้วยต้นทุนบวกค่าธรรมเนียมในการจัดการ 1% ต่อปี
2. มาตรการด้านแรงงาน
รักษาการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เน้นไปที่ธุรกิจโรงแรม สปา และบริษัทนำเที่ยว ให้เป็นไปในลักษณะอุดหนุนเงินเดือนในลักษณะร่วมจ่าย (Co-Pay) โดยให้รัฐบาลอุดหนุนเงินเดือนไม่เกิน 7,500 บาทต่อคน เป็นระยะเวลา 12 เดือน
ปรับลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม ปรับลดเป็น 1% ตามมาตรา 33 ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงมาตรา 39/40 จนถึง ธันวาคม 2564
3. มาตรการด้านภาษี
ขยายมาตรการด้านภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยพิจารณาปรับลดอัตราภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างลง 90% ในตลอดปี 2564
4. มาตรการการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
มาตรการ 5T : Targeting / Testing on Arrival / Tracing Application / Treating Capacity / Trusting Funds
มอบกระทรวงการคลังศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ป่วยจากการระบาด Covid19 และผู้ได้รับกระทบจากการระบาด โดยบูรณาการร่วมภาครัฐและภาคประชาชน
5. PHUKET SANDBOX
ขอให้ดำเนินการนำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวน งานที่เกี่ยวกับการอนุญาต เพื่อปรับปรุง แก้ไข กระบวนงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การอนุญาตในประเทศไทย จากการศึกษาจากสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ในส่วนรายงานการส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และการส่งเสริมนวัตกรรมและธุรกิจมาทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นระยะเวลา 24 เดือน
ขอดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษารูปแบบการบริหารและการจัดการรายได้และภาษีอากรเพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สมดุลและยั่งยืน
ทางทีมบริษัท เลี่ยนอุดม จำกัด และบริษัทสปริงบอร์ดโซลูชั่นส์ จำกัด ต้องขอบคุณทาง 12 องค์กรเอกชนภูเก็ต เป็นอย่างสูงครับที่ให้โอกาสทีมเราได้ทำงานที่สำคัญในครั้งนี้
กดถูกใจเพื่อให้กำลังใจเราด้วยนะครับ